คุณสมบัติของอุบาสก – อุบาสิกา

คุณสมบัติของอุบาสก – อุบาสิกา

คุณสมบัติของอุบาสก – อุบาสิกา

ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน หลาย ๆ ท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “อุบาสก” หรือ “อุบาสิกา” กันมาบ้าง คำแรก คือ “อุบาสก” เป็นคำใช้เรียกฆราวาสผู้ชาย ส่วน “อุบาสิกา” เป็นคำใช้เสียกฆราวาสผู้หญิง สองคำนี้สมัยก่อนใช้เรียกฆราวาสที่เป็นอริยบุคคลเพราะเป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย ปัจจุบันใช้เรียกฆราวาสผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เข้าวัดฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างสม่ำเสมอ โดยมิได้เจาะจงว่าเป็นอริยบุคคลหรือไม่

ความหมายของคำสองคำนี้คือ “ผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย” แต่ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็สามารถได้ชื่อว่าใกล้ชิดพระรัตนตรัยได้ ในทะเบียนบ้านระบุศาสนาที่นับถือเป็นศาสนาพุทธแล้วจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัยเลยก็หาไม่ ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัยนั้น ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ

1. สมบูรณ์ด้วยศรัทธา

คำว่า “ศรัทธา” นั้น แปลว่า “ความเชื่อ” ในที่นี้หมายเอาความเชื่อที่เรียกว่า “ตถาคตโพธิสทฺธา” คือ ความเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงตรัสสอนเหล่าสาวกให้รู้ตาม

เชื่อในกรรม คือเชื่อว่าเราจะต้องได้รับผลของกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราได้ทำไว้ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม (กมฺมสทฺธา) เชื่อในผลของกรรม คือเชื่อว่าสิ่งที่เราได้เสวยอยู่ในภพนี้ชาตินี้ไม่ว่าดีหรือไม่ดีไม่ว่าสุขหรือทุกข์ล้วนแล้วแต่เป็นผลของกรรมที่เราได้เคยกระทำไว้ในภพก่อนชาติก่อน (วิปากสทฺธา)

เชื่อว่าเรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน ไม่ว่าจะทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว (กมฺมสฺสกตาสทฺธา) เชื่อว่าบาปมีจริง บุญมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า “ศรัทธา”

2. สมบูรณ์ด้วยศีล

ข้อนี้เป็นธรรมดาอยู่เองที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย อย่างน้อยต้องประกอบด้วยศีล ๕ ข้อที่พึงรักษาอยู่เป็นนิตย์ และศีล ๘ ที่นิยมสมาทานรักษากันในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ

ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกานั้น ต้องสมาทานรักษาศีลดังว่ามานั้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เว้นจากการประพฤติใด ๆ ที่จะทำให้ศีลด่างพล้อย สำรวมระวังกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ ไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ที่ชั่วอันจะเป็นเหตุให้กระทำผิดศีลสิกขาบทที่ได้สมาทานรักษานั้น

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว

ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ ไม่แสวงหาลาภผลใด ๆ จากการบนบานศาลกล่าว จากการขูดต้นไม้ จากการไหว้ต้นกล้วย เหล่านี้เป็นต้น คือไม่ให้งมงาย แต่ให้หวังผลจากกรรมคือการกระทำของตนเองเท่านั้น เมื่อทำกรรมดีก็จะได้รับผลที่ดีตอบแทน เมื่อทำกรรมชั่วก็อย่าได้หวังว่าจะได้รับผลที่ดีจากการกระทำนั้น

เมื่อได้รับผลดี ๆ อันใดก็ให้นึกไว้เสมอว่านั่นคือผลแห่งบุญกุศลที่ได้เคยทำไว้ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติก่อน เมื่อได้รับผลหรือได้ประสบสิ่งใดที่ไม่พึงประสงค์ก็อย่าเพิ่งแหงนหน้าขึ้นฟ้าแล้วตะโกนด่าเทวดา หากแต่ให้ระลึกไว้เสมอว่านั่นคือผลของบาปอกุศลที่ตนได้เคยก่อไว้ไม่ว่าภพใดชาติใดก่อนหน้านี้

4. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา

ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา คือ ไม่แสวงหาแหล่งทำบุญตามลัทธิความเชื่อของศาสนาอื่น ข้อนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว หากข้อแรกสมบูรณ์บริบูรณ์ดี ข้อนี้ก็ย่อมจะไม่ขาดตกบกพร่องเป็นแน่แท้ เมื่อมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยแล้ว ใยต้องแสวงหาเขตบุญอื่นนอกพระพุทธศาสนานี้อีกเล่า

5. บำเพ็ญบุญเฉพาะในพระพุทธศานา

บำเพ็ญบุญเฉพาะในพระพุทธศานา คือให้บำเพ็ญบุญตามคำสอนของพระพุทธศาสนาเท่านั้น อันได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ

1) ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญสำเร็จด้วยการให้ทาน

2) สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

3) ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญสำเร็จด้วยการภาวนา.

You may also like...