เพียรให้เป็นจะเห็นสุข

เพียรให้เป็นจะเห็นสุข

เพียรให้เป็นจะเห็นสุข

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” สำนวนนี้ฟังดูคุ้น ๆ นะ เชื่อแน่ว่าใคร ๆ ก็เคยได้ยินกันมาแล้วทั้งนั้น เป็นสำนวนอมตะที่ใช้สร้างกำลังใจสร้างความฮึกเหิมให้เกิดขึ้นในจิตในใจได้ดีทีเดียวเชียวแหละ เมื่อเราทำอะไรสักอย่างที่มันค่อนข้างยากหรือไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ จนเกิดความท้อแท้ขึ้นมาใจจิตในใจ หากมีใครสักคนพูดสำนวนนี้ขึ้นมา หรือแม้แต่เราบอกตัวเอง ปลุกใจตัวเองด้วยสำนวนนี้ ก็จะทำให้เรากำจัดความท้อแท้สิ้นหวังไปได้ กลับมีกำลังใจ มีความฮึกเหิมขึ้นมาอีกครั้ง จนสามารถทำภารกิจนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

คำว่า “ความพยายาม” เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ความเพียร” คำทั้งสองนี้ เป็นคำกลาง ๆ จะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่ที่การนำไปใช้ ถ้าใช้ความเพียรในเรื่องที่ดีก็เป็นกุศล ถ้าใช้ความเพียรในเรื่องที่ไม่ดีก็เป็นอกุศล ดังนั้น การจะใช้ความเพียรให้เกิดประโยชน์นั้นต้องรู้จักใช้เฉพาะในเรื่องที่ดี หากใช้ในทางที่ไม่ดีแล้วไซร้ ความเพียรนั้นก็จะนำมาซึ่งความฉิบหายวายวอดแก่ตัวเราเองและสังคม คำสอนทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงความเพียรในทางที่ดีไว้เป็นแนวทางให้พุทธศาสนิกชนยึดเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่หัวข้อธรรมที่ชื่อว่า “ปธาน” แปลว่า “ความเพียร” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สัมมัปปธาน” แปลว่า “ความเพียรชอบ” มีอยู่ ๔ ประการ คือ

  1. สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิด
  2. ปหานปธาน เพียรกำจัดบาปอกุศลที่มีอยู่ให้หมดไป
  3. ภาวนาปธาน เพียรสร้างคุณงามความดีให้พอกพูนอยู่เสมอ
  4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาความดีที่มีอยู่แล้ว

ประการที่หนึ่ง สังวรปธาน คือความเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ได้แก่เพียรพยายามไม่ให้กิเลสคือความชั่วอันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น โดยการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น อันนี้คือเพียรระวังไม่ให้เกิดกิเลสอันเป็นตัวบาป ตัวอย่างเช่น หูได้ยินเสียงที่ไม่ดี เช่น โดนด่า ถ้าหากว่าเราขาดสังวรปธานไป ไม่ได้ระวังจิตระวังใจให้ดี เมื่อได้ยินคำด่าย่อมจะเกิดโทสะขึ้นมา

คำว่า “โทสะ” นั้น แปลว่า “สภาวะที่ประทุษร้าย” อันดับแรกเลย เมื่อโทสะมันเกิดขึ้นมามันก็ประทุษร้ายใจเรานี่แหละ ทำให้เกิดความร้อนรุ่มคลุ้มคลั่งขึ้นมาในใจ รู้สึกว่ามันเจ็บใจคับแค้นใจเหลือเกิน อันนี้คือมันประทุษร้ายใจเรา หลังจากนั้นก็ประทุษร้ายฝ่ายตรงข้าม คือโดนใครด่า ถ้าควบคุมจิตใจไว้ไม่ได้ก็อาจจะเดินดุ่ม ๆ เข้าไปฟาดปากใครคนนั้นสักทีสองที หรืออาจจะทำอันตรายกันถึงชีวิตกันเลยก็เป็นได้ ก็เป็นเหตุให้ผิดศีลข้อที่ ๑ หรือไม่ก็อาจจะด่าตอบกลับไป ด่ากันไปด่ากันมาด้วยถ้อยคำหยาบโลน ก็เป็นเหตุให้ผิดศีลข้อที่ ๔ ที่พูดมานั้นมีแต่ตัวบาปทั้งนั้น

แต่ถ้าเรามีสังวรปธาน คือสำรวมระวังจิตระวังใจอยู่เสมอ เมื่อได้ยินเสียง จะดีหรือไม่ดีก็ตาม ก็รู้จักพิจารณา เช่น เมื่อได้ยินคำด่า ก็พิจารณาว่า เสียง (คำด่า) ที่เราได้ยินนั้น มันก็สักแต่ว่าเสียง ซึ่งมีปกติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เมื่อเขาด่าเรา เสียงมันเกิดขึ้นแล้ว มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป จะมีประโยชน์อันใดที่เราจะไปยึด (อุปาทาน) เอาเสียงนั้นมาประทุษร้ายใจเรา เมื่อเราพิจารณาได้ ปล่อยวางได้ โทสะเพราะเสียงนั้นก็ไม่เกิด เมื่อโทสะไม่เกิด บาปก็ไม่เกิด ใจเราก็ไม่เป็นทุกข์ อันนี้เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในจิตในใจ

ประการที่สอง ปหานปธาน คือความเพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว คือคนเรานั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ย่อมมีกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ฝังแน่นอยู่ในสันดานอยู่แล้ว และกิเลสนี่เองคือตัวบาป ดังนั้น การที่จะระวังบาปใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นอย่างเดียวเท่านั้นจึงยังไม่พอ ต้องพยายามละบาปเก่าด้วย เช่น ถ้าเราเป็นคนเจ้าโทสะ มีโทสะเป็นเจ้าเรือน คือมักโกรธอยู่เสมอ ใครทำอะไรไม่ถูกใจนิดหน่อยก็โกรธแล้ว อย่างนี้เป็นต้น

คนประเภทนี้ควรบำเพ็ญพรหมวิหารธรรม โดยเฉพาะเมตตาพรหมวิหาร ให้นึกอยู่เสมอว่า ตัวเราเองนั้นรักสุขเกลียดทุกข์ ฉันใด คนอื่นเขาก็รักสุขเกลียดทุกข์ ฉันนั้น เป็นต้น ให้หมั่นแผ่เมตตาปรารถนาให้เพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกทั้งปวงมีความร่มเย็นเป็นสุข ทำอย่างนี้อยู่เป็นประจำ จิตใจของเราก็จะอ่อนโยนลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ ในที่สุดก็จะสามารถกำจัดโทสะออกจากจิตจากใจได้ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ปหานปธาน ก็คือการเพียรพยายามละอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่งเอง

ประการที่สาม ภาวนาปธาน ความเพียรพยายามทำให้กุศลเจริญขึ้นในสันดาน คำว่า “ภาวนา” แปลว่า “ทำให้เจริญ” สิ่งที่ควรทำให้เจริญก็คือคุณงามความดี หรือกุศลธรรมนั่นเอง ได้แก่การหมั่นให้ทาน ทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ทำวัตร สวดมนต์ รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทางบุญทั้งนั้น เราตื่นแต่เช้ามาทำบุญตักบาตร หรือไปถวายภัตตาหารเช้าภัตตาหารเพลที่วัด มีข้าวของเงินทองเหลือเฟือก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นที่เขาตกทุกข์ได้ยากลำบากกว่าเรา บริจาคทรัพย์สินเงินทองของใช้ช่วยเหลือคนทุกข์ยากตามสถานที่ตามวาระโอกาสต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการบำเพ็ญบารมีในส่วนของทานมัยบุญกิริยาวัตถุทั้งนั้น

เราจะทำอะไรก็ตามก็นึกถึงความผิดถูกชั่วดี นึกถึงศีลถึงธรรมเป็นอันดับแรก สิ่งใดที่ทำไปแล้วมันผิดศีลผิดธรรมเราไม่ทำ สิ่งใดที่ทำไปแล้วจะยังความเดือดร้อนเสียหายให้เกิดแก่ตนเองและสังคมเราไม่ทำ สิ่งใดที่ทำไปแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมเราทำสิ่งนั้น สิ่งใดที่ทำไปแล้วไม่ผิดศีลผิดธรรมไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองเราทำสิ่งนั้น

หากผิดพลาดพลั้งเผลอไปทำให้ศีลข้อใดข้อหนึ่งขาดตกบกพร่องด่างพล้อยเราก็สมาทานศีลใหม่และตั้งใจรักษาให้ดี อันนี้คือการสร้างบารมีในส่วนของศีลมัยบุญกิริยาวัตถุ เมื่อมีโอกาสเราก็เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม หรือเปิดธรรมะฟังที่บ้าน ตั้งใจฟังธรรมะนั้นและใช้ปัญญาพิจารณาตามให้เข้าใจถ่องแท้ หรือเข้าหาครูบาอาจารย์ผู้สามารถแนะนำเราพร่ำสอนเราในเรื่องของสมถะกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อความรู้แจ้งแทงตลอดพระสัทธรรม เพื่อกระทำที่สุดทุกข์ เพื่อสุขอันไพบูลย์คือมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นการบำเพ็ญบุญในส่วนของภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ เหล่านี้คือภาวนาปธาน

ประการที่สี่ อนุรักขนาปธาน เพียรพยายามรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม กล่าวย้อนไปถึงภาวนาปธานข้างต้นนั้น คือความเพียรพยายามทำกุศลให้เจริญ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยที่คนหนึ่งคนจะเพียรพยายามในการสร้างสมคุณงามความดีได้สำเร็จ เพราะต้องฝ่าฝันกับกิเลสที่มีอยู่ในจิตในใจไม่ใช่น้อย

ดังนั้น เมื่อเรายังจิตที่เป็นกุศลให้เกิดขึ้นได้แล้ว เมื่อเรายินดีที่จะบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา จะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดก็ตามที สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือการประคับประคองจิตใจที่เป็นกุศลนั้นให้คงที่ ไม่ให้กระเพื่อม ไม่ให้ลดระดับลงมา หากแต่พึงทำความพอใจ พึงยังจิตให้ยินดีในการบำเพ็ญบุญนั้น ๆ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อป้องกันบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรานั่นเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นแนวทางในการสร้างความเพียรที่ถูกที่ควรตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา อย่าเพียรสักแต่ว่าเพียร อย่าพยายามสักแต่ว่าพยายาม หากแต่ว่าพึงเพียรให้ชอบธรรม พึงพยายามให้ชอบธรรม

You may also like...