การค้าขายที่ผิดศีลธรรม (มิจฉาวณิชชา)

การค้าขายที่ผิดศีลธรรม (มิจฉาวณิชชา)
พูดถึงเรื่องอาชีพนั้นก็มีหลากหลายสาขา มีเยอะจนบอกไม่ถูกเลยทีเดียวเชียวแหละ แต่เมื่อย่อลงแล้วก็เหลืออยู่ 2 อาชีพ คือ สัมมาชีพ อาชีพที่ถูกต้องสุจริต และมิจฉาชีพ อาชีพที่ทุจริตผิดศีลผิดกฎหมาย อันนี้ต้องแยกแยะให้ดี คำทั้งสองนั้นมันมีนัยที่ควรพิจารณาอยู่พอสมควร อาชีพบางอย่างไม่ผิดกฎหมาย แต่มันผิดศีล เรียกว่ามิจฉาชีพ อาชีพบางอย่างไม่ผิดศีลและไม่ผิดกฎหมาย อันนี้เรียกว่าสัมมาชีพ พอพูดมาถึงตรงนี้แล้วก็คงพอจะนึกออกนะว่าอาชีพที่ผิดกฎหมายด้วยผิดศีลด้วยจะเรียกว่าอะไร
ทีนี้มาพูดถึงอาชีพค้าขายกันสักหน่อย เมื่อพูดถึงอาชีพค้าขาย โดยรวม ๆ แล้วมันก็น่าจะเป็นสัมมาชีพหรืออาชีพสุจริต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ต้องมีกฎมีเกณฑ์ในการแยกแยะด้วย อย่างเช่น พวกที่ขายยาบ้าหรือยาเสพติดชนิดอื่น ๆ อันนี้แน่นอนเลยมันผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นมิจฉาชีพ อันนี้ก็เป็นหลักธรรมดาที่ใคร ๆ ก็รู้ ความจริงก็ไม่เห็นจะต้องพูดนี่เนาะ แล้วถ้าเราขายของที่ถูกกฎหมายล่ะ จะเรียกว่าเป็นสัมมาชีพได้หรือเปล่า?
มีหัวข้อธรรมะหัวข้อหนึ่ง เรียกว่า “มิจฉาวณิชชา” ถ้าแปลตรง ๆ ก็แปลได้ว่า “การค้าขายที่ผิด” เป็นหัวข้อธรรมะที่เหมาะมากสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย ธรรมะข้อนี้กล่าวถึงการค้าขายที่ไม่ควรกระทำเพราะเป็นการค้าขายที่ไม่เป็นไปโดยชอบธรรม ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข ไม่เป็นไปเพื่อศีลธรรมอันดี มีอยู่ 5 ประการ คือ
1. สัตถวณิชชา
สัตถวณิชชา การค้าขายศัสตราวุธเครื่องประหารต่าง ๆ เช่น ระเบิด ปืน มีด ดาบ และสิ่งอื่นใดก็ตามที่มีไว้เพื่อประหัตประหารผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต รวมไปถึงเครื่องมือดักสัตว์จับสัตว์อื่น ๆ เช่น แห อวน เบ็ด เหล่านี้เป็นต้น

ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น บางอย่างอาจจะดูเหมือนว่าไม่น่าจะผิด เช่น ขายแห ขายอวน ขายเบ็ด เหล่านี้เป็นต้น บางคนอาจจะเห็นว่ามันก็ไม่ได้ผิดกฎหมายนี่นา ในทางกฎหมายบ้านเมืองมันก็ไม่ได้ผิดอะไร
แต่หากกล่าวในทางพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการเบียดเบียนชีวิตของสัตว์อื่นซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่การผิดศีลข้อ 1 คือปาณาติบาต ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงสอนว่าการค้าขายสิ่งเหล่านั้นจัดเป็นมิจฉาวณิชชา และของบางสิ่งบางอย่างก็ต้องดูที่เจตนาตั้งต้นด้วย เช่น มีด มีดนี้ก็มีหลายประเภท เช่น มีดปอกผลไม้ มีดแกะสลัก เป็นต้น อันนี้ต้องมองที่เจตนาของการผลิตวัตถุชนิดนั้นขึ้นมาด้วย
ถ้าเราขายมีดที่เขาผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอาวุธ อันนี้จัดเป็นมิจฉาวณิชชา แต่ถ้าเราขายมีดที่เขาผลิตขึ้นมาเพื่อปอกผลไม้หรือเพื่อใช้ในงานแกะสลักเป็นต้น อันนี้ก็ไม่เป็นมิจฉาวณิชชา ส่วนใครซื้อมีดปอกผลไม้ไปแล้วจะเอาไปฆ่าคน อันนั้นก็เป็นเจตนาเป็นกรรมของผู้ที่นำไปใช้นั้นเอง
2. สัตตวณิชชา
สัตตวณิชชา การค้าขายมนุษย์ (คำว่า สตฺต ในที่นี้หมายถึงมนุษย์) เช่น การค้าขายมนุษย์เพื่อเป็นทาส การหลอกเด็กไปขายเพื่อใช้แรงงาน การล่อลวงหญิงไปค้าประเวณี เหล่านี้เป็นต้น อันนี้มันผิดกฎหมายอยู่แล้ว ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันเป็นมิจฉาชีพ คงไม่ต้องอธิบายให้มากความกระมัง
3. มังสวณิชชา
มังสวณิชชา การค้าขายสัตว์ คำว่า มังสะ นั้นแปลว่า เนื้อ แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเนื้อที่เป็นชิ้น ๆ ที่ชั่งกิโลขายอยู่ตามตลาดสด หากแต่หมายเอาสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า และสัตว์ทุกชนิดที่ยังมีชีวิตอยู่ อันนี้จัดเป็นมิจฉาวณิชชา เพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิตของสัตว์อื่น
4. มัชชวณิชชา
มัชชวณิชชา การค้าขายของมึนเมา อันนี้หมายเอาของมึนเมาทุกชนิด ตั้งแต่ชนิดที่ถูกกฎหมายไปชนถึงชนิดที่ผิดกฎหมาย ที่ถูกกฎหหมายก็จำพวกเหล้า เบียร์ เป็นต้น ที่ผิดกฎหมายก็พวกยาเสพติดทั้งหลายทั้งปวง สิ่งเหล่านี้จัดเป็นของมึนเมา เมื่อเราดื่มหรือเสพเข้าไป อันดับแรกเลยก็คือผิดศีลข้อที่ 5 และสามารถเป็นต้นเหตุให้กระทำผิดศีลข้ออื่น ๆ ตามมาด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าการค้าขายของมึนเมานั้นเป็นมิจฉาวณิชชา
5. วิสวณิชชา
วิสวณิชชา การค้าขายยาพิษ อันนี้ก็คล้าย ๆ กับข้อแรก เพราะยาพิษนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของสัตว์ต้องตกล่วงไป เป็นสิ่งที่จะทำลายชีวิตของสัตว์อื่น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาพิษชนิดไหน จะเป็นยาพิษสำหรับฆ่าสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ หรือยาพิษสำหรับฆ่าคนก็ตามที ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุเบียดเบียนชีวิตของสัตว์อื่นทั้งนั้น เมื่อใช้ยาพิษก็จะทำให้กระทำผิดศีลข้อที่ 1 ได้เฉกเช่นกัน เพราะฉะนั้น การขายยาพิษ ท่านจึงจัดเป็นมิจฉาวณิชชา
จะเห็นได้ว่า มิจฉาวณิชชา ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น บางสิ่งบางอย่างมันก็ไม่ได้ผิดกฎหมายเลย อันนี้ก็ต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายบางมีมันไม่ได้ไปด้วยกันกับศีล กฎหมายบางข้อบัญญัติขึ้นโดยยึดศีลเป็นแนวทาง กฎหมายบางข้อก็ไปคนละทางกับศีล เพราะฉะนั้น สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควรก็จงใช้สติปัญญาพิจารณาดูเถิด.