รีบขวนขวายในความดี ห้ามจิตเสียจากความชั่ว

รีบขวนขวายในความดี ห้ามจิตเสียจากความชั่ว

รีบขวนขวายในความดี ห้ามจิตเสียจากความชั่ว

อันธรรมดาจิตของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ นั้นย่อมมีปกติซัดส่าย คือซัดส่ายไปในฝ่ายกุศลบ้าง ซัดส่ายไปในฝ่ายอกุศลบ้าง คิดเรื่องดี ๆ บ้าง คิดเรื่องชั่ว ๆ บ้าง คิดอยากจะทำบุญบ้าง คิดอยากจะทำบาปบ้าง

ท่านทั้งหลายเคยหรือไม่ ที่คิดอยากจะทำความดีบางอย่าง แต่ปล่อยให้เวลาผ่านไป คิดกลับไปกลับมา สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ อาจจะเพราะลังเลหรืออะไรก็ตามที

ท่านทั้งหลายเคยหรือไม่ ที่คิดอยากจะทำบุญ แต่ปล่อยให้เวลาผ่านไป คิดโน่นนี่นั่น ศรัทธาตก แล้วก็ไม่ได้ทำบุญอย่างที่ตั้งใจไว้ทีแรก หลาย ๆ ท่านคงจะเคย ใช่หรือไม่? ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ธรรมดาของจิตย่อมซัดส่ายไปในฝ่ายกุศลบ้างฝ่ายอกุศลบ้าง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น

เพราะเหตุดังว่ามานั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รีบขวนขวายในความดี คือเมื่อจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น เมื่อคิดจะทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้รีบทำในขณะนั้น อย่าเปิดโอกาสให้อกุศลจิตเกิดขึ้นครอบงำจนเสียการ ยกตัวอย่างเช่น เราคิดจะนั่งสมาธิภาวนา หรือคิดจะเดินจงกรม แต่ไม่ได้รีบนั่งในขณะนั้น ไม่รีบเดินในขณะนั้น ปล่อยเวลาผ่านไปแค่ครู่เดียวเท่านั้น เกิดความคิดใหม่ขึ้นมาว่า ไม่นั่งสมาธิแล้ว นอนดีกว่า หรือไม่เดินจงกรมแล้ว นอนดีกว่า ไปเดินเล่นดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น

นั่นก็เป็นเพราะว่าจิตของเรามีปกติแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราควรทำก็คือ เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นให้รีบขวนขวายทำกุศลกรรมตามกุศลจิตนั้น เพราะในขณะที่เราทำกุศลกรรมอยู่ อกุศลจิตจะไม่ได้โอกาส คือจิตจะไม่ยินดีในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล จะไม่คิดทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล

Image by Juuucy from Pixabay

ต่อเมื่อหยุดทำกุศลกรรมแล้ว จิตจึงจะกลับสู่สภาวะเดิม คือซัดส่ายไปในฝ่ายกุศลบ้างฝ่ายอกุศลบ้าง หากเราเผลอปล่อยให้จิตไปยินดีในอกุศลกรรมเข้าแล้ว โอกาสที่จิตจะกลับมายินดีในกุศลก็ย่อมจะยากเช่นกัน ดังมีพระคาถาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัวไว้ ความว่า

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ……ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
ทนฺธํ หิ กรโต ปุญฺญํ……..ปาปสฺมึ รมตี มโน.

“บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากความชั่ว เพราะว่า เมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในความชั่ว.”

ความหมายก็คือ เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น คือเมื่อจิตที่คิดอยากจะทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้รีบขวนขวายทำกุศลนั้นทำความดีนั้นในทันที อย่าปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป เพราะจะทำให้อกุศลจิตได้โอกาสเกิดขึ้นมาทำลายกุศลจิตนั้นเสียได้

เมื่อปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป คือทำบุญช้า ทำความดีช้า ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จิตจะกลับไปยินดีในบาปอกุศล เปรียบเหมือนคนที่เดินมุ่งหน้าไปยังจุดใดจุดหนึ่งแล้วเกิดประมาทเผอเรอขึ้นมาอาจจะลื่นหกล้มได้ฉะนั้น.

You may also like...