อยู่อย่างไรให้มีความสุข

อยู่อย่างไรให้มีความสุข

อยู่อย่างไรให้มีความสุข

บ้านเมืองเราเดี๋ยวนี้ร้อนนะ อากาศก็ร้อน คนก็ร้อน อากาศร้อนนี่ไม่เท่าไหร่ น้ำมีให้อาบ พัดลมมี แอร์มี ก็เปิดกันเข้าไป หาค่าไฟมาจ่ายให้ได้ก็แล้วกัน แต่คนร้อนนี่สิแก้ลำบาก เพราะคนร้อนนี่มันร้อนที่ใจ ใจใครก็ใจมัน สำคัญที่คำว่า “ใจใครก็ใจมัน” นี่แหละ เพราะต่างคนก็ต่างยึดใจตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ค่อยจะนึกถึงใจคนอื่นกันสักเท่าไหร่ ก็เลยอยู่ด้วยกันลำบาก ไม่ต้องพูดถึงใครอื่นไกลเลย แค่ในครอบครัวเดียวกันนี่ก็แทบจะไปไม่รอดแล้ว บางครอบครัวนี่อยู่ด้วยกัน 3-4 คน ก็ยังไม่ใคร่จะลงรอยกันเท่าใดนักเลย หนักเข้า ๆ ก็ทะเลาะกันถึงขั้นบ้านแตกกันเลยก็มี

เมื่อพูดถึงสังคมนอกครอบครัวยิ่งแล้วใหญ่ เราอยู่ในสังคมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ ทวีป และโลก อันนี้ไม่พูดถึงจักรวาลนะ มันไกลไป บางคนขับรถออกไปนอกบ้าน โดนคนอื่นขับปาดหน้าหน่อยเดียวยิงทิ้งเลย โอ้! ทำไมคนเดี๋ยวนี้ถึงได้ฆ่ากันง่ายดายเหลือเกิน เหตุผลที่จะฆ่าใครซักคนนี่แทบจะไม่ต้องมีเลย ทำไมมันเป็นงั้นล่ะ

ปัญหามันก็อยู่ที่อกข้างซ้ายนี่แหละ มันอยู่ที่ใจ ใจที่ขาดธรรมะ คนเราทุกคนนั้นมีใจเป็นหัวหน้า ไม่ว่าจะทำอะไรจะพูดอะไรก็แล้วแต่ ใจสั่งมาด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใจดีมันก็สั่งดี ถ้าใจไม่ดีมันก็สั่งไม่ดี แล้วการกระทำหรือคำพูดต่าง ๆ มันก็เป็นไปตามที่ใจสั่ง ถ้าต่างคนต่างทำดีต่อกันและกัน ก็ไม่ต้องถามหาความทุกข์ร้อนใด ๆ เพราะจะมีแต่ความสุขสงบร่มเย็นเท่านั้นที่จะบังเกิด

สิ่งที่ว่ามานี้มันสามารถเป็นไปได้ถ้าจิตใจของทุก ๆ คนนั้นมีธรรมะ เอาง่าย ๆ แค่ธรรมะสำหรับการอยู่ร่วมกันให้มีความสุขที่เรียกว่า “พรหมวิหาร” ก่อน คำว่า “พรหมวิหาร” นี่แปลว่า “ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ประเสริฐ” ประเสริฐอย่างไร มาดูกัน พรหมวิหารธรรมนั้นมีอยู่ 4 ประการ คือ

  1. เมตตา ความรักความปรารถนาดีต่อกัน
  2. กรุณา ความสงสาร ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
  3. มุทิตา ยินดีกับความสุขความเจริญของผู้อื่น ไม่ริษยากัน
  4. อุเบกขา วางใจเป็นกลาง มองทุกอย่างให้กระจ่างตามกฎแห่งกรรม
อยู่อย่างไรให้มีความสุข
Image by Sasin Tipchai from Pixabay

ประการที่หนึ่ง เมตตา คือความมีไมตรีจิตคิดดีต่อกัน มีความรักใคร่ปรองดองกัน ปรารถนาให้กันและกันมีความสุขความเจริญ คือไม่ว่าเราจะอยู่ในสังคมใด จะเป็นสังคมขนาดเล็กหรือสังคมขนาดใหญ่ จะเป็นสังคมครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมหมู่บ้าน เรื่อยไปจนถึงเพื่อนร่วมโลก

ให้เราระลึกอยู่เสมอว่าเราเองเกิดมาบนโลกใบนี้ เราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ฉันใด คนอื่น ๆ ก็ปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ให้นึกถึงใจเขาใจเรา ทำไปแล้วเราเดือดร้อนหรือเปล่า คนอื่นจะเดือดร้อนเพราะการกระทำของเราหรือเปล่า ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำนั้นจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็หยุดเสีย

ในทางตรงกันข้าม อะไรที่จะทำให้คนอื่นมีความสุข ทำให้คนในครอบครัว ทำให้คนในสังคมส่วนรวมมีความสุข ก็จงตั้งใจให้มั่นที่จะทำสิ่งนั้นเท่าที่จะสามารถทำได้ เอาแค่เท่าที่สามารถทำได้ก็พอนะ ไม่ต้องไปดิ้นรนจนตัวเองต้องเป็นทุกข์

Image by madsmith33 from Pixabay

ประการที่สอง กรุณา คือความสงสาร มีจิตใจอ่อนโยนอยากจะช่วยเหลือเมื่อเห็นคนอื่นได้รับความทุกข์ยากลำบาก คนเราเกิดมาบนโลกใบนี้มีชาติมีฐานะมีความเป็นอยู่ไม่เท่าเทียมกัน บางคนเกิดมาในตระกูลที่ดี ในถิ่นที่ที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี บางคนเกิดมาในตระกูลที่ไม่ค่อยดี มีฐานะยากจน มีความเป็นอยู่ลำบากยากแค้น อันนี้ก็เป็นเพราะบุญที่คนแต่ละคนทำมานั้นมากน้อยแตกต่างกัน

แต่ว่าทุกคนเสมอกันโดยฐานะของความเป็นคน และคนทุกคนต่างก็ปรารถนาความสุขอยากลุ้นพ้นจากความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น หากแต่ว่าโอกาสวาสนาแตกต่างกัน ดังนั้น หากว่าเราอยู่ในสถานะที่มีโอกาสมีวาสนาทีดีกว่าคนอื่น มีความสามารถเพียงพอที่จะช่วยคนอื่นให้พ้นจากความทุกข์ได้โดยที่ตนเองไม่เดือดร้อนก็พึงอาศัยกรุณาธรรมตั้งจิตให้มั่นในอันที่จะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ให้พ้นจากทุกข์เถิด

ประการที่สาม มุทิตา ความพลอยยินดี คือเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขความเจริญในชีวิตในหน้าที่การงานต่าง ๆ เห็นคนอื่นเขาได้ดี เราก็พลอยยินดีไปกับเขาด้วย อย่าไปริษยา ความริษยานี่ร้ายกาจนัก สามารถสร้างความฉิบหายทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้มากต่อมาก

หากผู้ใดขาดมุทิตาธรรมเสียแล้ว เห็นคนอื่นได้ดีมีสุขก็ทนไม่ได้ ปรารถนาให้เขาเสื่อมจากความสุขความเจริญนั้น ก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขาเสื่อมจากความสุขความเจริญ เป็นผลให้เกิดอาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรมกันเปล่า ๆ สุดท้ายใครเกี่ยวข้องด้วยก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ฉะนั้น พึงเจริญมุทิตาธรรมให้จงหนัก

Image by Pexels from Pixabay

ประการที่สี่ อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ใช่ความเฉยเมยนะ แต่เป็นความวางใจเป็นกลางเพื่อไม่ให้ใช้เมตตากรุณาและมุทิตาไปในทางที่ผิด ให้รู้จักใช้ความถูกต้องชอบธรรมมาควบคุมจิตใจด้วย เช่น ลูกหลานเราไปทำอะไรผิดกฎหมายบ้านเมืองมาจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย แล้วเราก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ลูกหลานนั้นพ้นจากความผิดโดยไม่ต้องรับโทษ โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิดประการใด สุดท้ายก็ทำให้คนที่ผิดกลายเป็นถูก ทำให้คนที่ถูกกลายเป็นผิด แล้วจะบอกว่าตัวเองทำไปเพราะบำเพ็ญเมตตาธรรม หรือทำไปเพราะบำเพ็ญกรุณาธรรม อย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้

หรือบางทีเราได้ช่วยเหลือใครอย่างสุดความสามารถแล้วไม่อาจจะช่วยได้ดั่งใจหวัง ก็ต้องรู้จักปล่อยวางบ้าง อย่าไปเก็บเรื่องนั้นมาคิดมากจนตัวเองต้องเป็นทุกข์ อีกประการหนึ่ง อุเบกขานี้ท่านว่าเป็นความวางเฉยในเมื่อ 3 ข้อข้างต้นนั้นสำเร็จแล้ว

ตัวอย่างเช่น พ่อแม่เลี้ยงลูกมาด้วยเมตตา เมตตาตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องแม่ พอลูกเกิดขึ้นมาก็ทำมาหาเลี้ยงลูกด้วยความรักความเมตตา เมื่อลูกมีความทุกข์ร้อนประการใดพ่อแม้ก็คอยช่วยเหลือด้วยความกรุณาอย่างแรงกล้า

เมื่อลูกประสบความสำเร็จในการศึกษาในหน้าที่การงานพ่อแม่ก็มีมุทิตาพลอยยินดีไปกับลูก เมื่อลูกออกเหย้าออกเรือนไปแล้ว พ่อแม่เห็นว่าลูกเจริญเติบโตมีความรู้มีสติปัญญามีหน้าที่การงานมั่นคงสามารถหาเลี้ยงตนเองได้แล้ว พ่อแม่ก็มีอุเบกขาความวางใจคือเบาใจเมื่อไม่ต้องคอยตามช่วยเหลือไม่ต้องคอยหาเลี้ยงลูกอีกแล้ว เป็นต้น

ถ้าหากว่าเราทุกคนต่างบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ประการข้างต้นนั้นด้วยดีแล้วไซร้ ไหนเลยจะมีข่าวการเข่นฆ่ากัน ไหนเลยจะมีข่าวนักเรียนไล่ตีกัน ไหนเลยจะมีข่าวผัวเมียทะเลาะกัน และข่าวความรุนแรงอื่น ๆ ให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอทีวี.

You may also like...