คาถาหัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ ทำให้ได้ ไม่ต้องท่อง

คาถาหัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ ทำให้ได้ ไม่ต้องท่อง
คาถาหัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ คาถานี้เราคงจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ที่เรานิยมเอาไปท่องไปสาธยายกัน จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องไปท่องหรอกครับ ไม่ต้องไปท่องจำ ไม่ต้องไปท่องบ่นสาธยายอะไร แต่ว่าเราต้องทำให้ได้ ถ้าทำได้ชีวิตจะดี ดีกว่าเอาไปท่อง
คาถาหัวใจเศรษฐี ๔ คำ อุ อา กะ สะ จริง ๆ แล้วมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านบัญญัติไว้เป็นหัวข้อธรรมหมวดหนึ่ง ชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ ซึ่ง ทิฏฐธัมมิกัตถะ นี้ แปลว่า ธรรมะที่เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติแล้วเนี่ย จะก่อให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันชาติ มีอยู่ ๔ ข้อ ก็ อุ อา กะ สะ นั่นแหละครับ แต่ว่า อุ อา กะ สะ นั้นเป็นแค่คำย่อ ไม่ใช่คำเต็ม อุ อา กะ สะ มาจากหลักธรรม ๔ ข้อ คือ
อุฏฐานสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความขยัน
อุ มาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ขยัน ถึงพร้อมด้วยความขยัน ก็คือ ถ้าเราอยากจะมั่งมีศรีสุข อยากจะร่ำรวย อยากมีทรัพย์สินเงินทองเนี่ย เราต้องขยัน คือเราต้องขยันทำมาหากิน ต้องขยันทำงาน ในวัยที่ยังเป็นนักเรียนเป็นนักศึกษาอยู่ เราก็ต้องขยันศึกษาหาความรู้ ในวัยที่สำเร็จการศึกษามาแล้ว ต้องทำการทำงาน เราก็ต้องขยันทำการทำงาน ขยันหาเงินหาทอง อันนี้คือ อุฏฐานสัมปทา ความหมายที่แท้จริงของคาถาหัวใจเศรษฐี ข้อที่ว่า อุ นะครับ อุ อุฏฐานสัมปทา ต้องขยัน อย่าไปขี้เกียจ

ขี้เกียจเนี่ย มันไม่มีทางสำเร็จประโยชน์อะไรได้หรอก ความขี้เกียจไม่เคยสร้างประโยชน์ให้ใครเลย ความขี้เกียจสร้างแต่หายนะ สร้างแต่ความฉิบหายเท่านั้น เพราะฉะนั้น เราอย่าไปขี้เกียจ ถ้าขี้เกียจก็คือทำตัวสวนทางกับคาถาหัวใจเศรษฐี เมื่อสวนทางกับคาถาหัวใจเศรษฐีแล้วเนี่ย โอกาสที่จะร่ำรวย โอกาสที่จะมั่งมีศรีสุขนั้นก็เป็นไปได้ยาก เราต้องขยัน ขยันทำมาหากิน ขยันทำงาน ขยันศึกษาหาความรู้ ขยันพัฒนาตัวเอง ขยันเข้าไว้ครับ แล้วชีวิตเราจะดี อันนี้ข้อแรกนะ คาถาหัวใจเศรษฐีข้อแรก อุฏฐานสัมปทา ต้องถึงพร้อมด้วยความขยัน
อารักขสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการรักษา
ข้อที่ ๒ อา คำว่า “อา” นี้ย่อมาจากคำว่า “อารักขสัมปทา” อารักขสัมปทา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยการรักษา นั่นก็หมายความว่า เมื่อเราขยันทำการทำงาน ขยันหาเงินหาทอง หาทรัพย์สิน ได้เงินได้ทองได้ทรัพย์สินสมบัติมาแล้วเนี่ย เราต้องรู้จักเก็บรักษา เราต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไม่ให้มันเสื่อมสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ให้เสียไปโดยไร้ประโยชน์ ไม่ให้เสียไปกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ อย่างเช่น เสียไปกับการพนัน เสียไปกับการเที่ยวเตร่เฮฮา เสียไปกับเรื่องเหลวไหลไร้สาระไร้ศีลธรรมทั้งหลายทั้งปวงเนี่ย อย่าไปทำ
ทรัพย์สินเงินทองหามาด้วยความยากลำบาก เราต้องเก็บรักษาให้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้ใช้เลย เราก็ใช้ได้ ใช้เท่าที่สมควรจะต้องใช้ ความสุขอย่างหนึ่งของคฤหัสถ์ก็คือการใช้จ่ายทรัพย์สินนี่แหละ การเอาเงินเอาทองที่หาได้มาเนี่ยไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อของใช้จำเป็น ซื้อข้าวปลาอาหาร ซื้อเครื่องประดับ ซื้อเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ นานา ซื้ออาหาร ซื้อยารักษาโรค เราก็ใช้ตามที่สมควร
แต่อย่าใช้ซะทีเดียวหมด ก็คือต้องรู้จักเก็บ รู้จักแบ่งเก็บ รู้จักแบ่งใช้ เป็นสัดส่วน เราจะได้มีทรัพย์สินสมบัติที่คงเหลืออยู่บ้าง มีเงินทองเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นบ้าง เก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียนลูกหลานบ้าง เก็บไว้เป็นค่าหยูกค่ายาในยามเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง อย่างนี้เป็นต้น อันนี้คือคาถาหัวใจเศรษฐีข้อที่ ๒ อา คือ อารักขสัมปทา หาเงินหาทองมาได้แล้วต้องรู้จักรักษา
กัลยาณมิตตตา การคบคนดีเป็นมิตร
ข้อที่ ๓ กะ หัวใจเศรษฐีข้อที่ ๓ กะ “กะ” ย่อมาจากคำว่า “กัลยาณมิตตตา” กัลยาณมิตตตา ก็คือ ให้คบกัลยาณมิตร ก็คือคบคนดีเป็นเพื่อนนั่นเอง คนไม่ดีก็อย่าไปคบ ถ้าคบคนไม่ดีอยู่ก็ เป็นไปได้ก็เลิก ๆ ไปซะ ถ้ายังไม่มีเพื่อนดี ๆ ก็หาเพื่อนดี ๆ

แต่ว่าการที่เราจะไปพบคนดีแล้วคนดีจะมาคบเรานั้น เราก็ต้องทำตัวให้เป็นคนดีด้วย เราต้องปรับปรุงตัวเองด้วย อะไรที่มันเป็นข้อบกพร่องของเรา เราก็ต้องปรับปรุงให้มันดี อะไรที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่ในตัวเรา เราต้องตัด เราต้องทิ้ง เราต้องละ ทำตัวให้เป็นคนดีด้วย เพราะว่า เราจะไปคบคนดี คนดีเขาจะคบเราหรือเปล่า เขาก็ต้องดูด้วยว่าเราเป็นคนดีหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น การที่เราจะคบคนดี เป็นมิตร หรือว่าจะมีกัลยาณมิตรได้นั้น ๑. เราต้องปรับปรุงตัวเอง ๒. เราก็ต้องดูด้วยว่าใครเป็นคนดี ใครที่คบได้ ใครที่คบไม่ได้ ใครที่เป็นกัลยาณมิตร แนะนำเราในทางที่ดี เป็นคนดีมีศีลธรรม มีความรู้มีความสามารถ สามารถแนะนำเราในการแสวงหาทรัพย์สิน สามารถแนะนำเราในทิศทางที่ดี ในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ในเรื่องการประกอบสัมมาชีพ เราก็คบคนนั้นแหละ อันนี้คือความหมายของคำว่า กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร
เมื่อคบคนดีเป็นมิตรแล้ว คนดีจะไม่พาเราไปในทางที่เป็นอบายมุข ไม่พาเราไปเที่ยวเตร่เฮฮา ไม่พาเราไปใช้จ่ายทรัพย์สิน ผลาญทรัพย์ไปในทางที่มันไร้ประโยชน์ นอกจากนั้น เขาจะแนะนำเราในการที่จะประกอบสัมมาชีพ ประกอบธุรกิจ หาเงินหาทองได้เพิ่มมากขึ้นอีก เพราะฉะนั้น การคบคนดีเป็นมิตรก็สำคัญมากทีเดียว ในการใช้ชีวิตในโลกในยุคปัจจุบัน
สมชีวิตา การใช้ชีวิตพอดีหรือสมฐานะ
ข้อที่ ๔ คาถาหัวใจเศรษฐีข้อที่ ๔ สะ “สะ” ย่อมาจากคำว่า “สมชีวิตา” สมชีวิตา ก็แปลว่า การใช้ชีวิตด้วยดี ก็ได้ แปลว่า การใช้ชีวิตสมฐานะ สมเหตุสมผล ก็ได้ ใช้ชีวิตด้วยดี ก็คือ เราต้องใช้ชีวิตบนพื้นฐานของคุณธรรมศีลธรรม อย่างเราเนี่ย ฆราวาสอย่างเรา ๆ นี้ก็ รักษาศีล ๕ ข้อให้ดี เป็นอย่างน้อย ศีลข้อ ๑ – ๕ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม ห้ามโกหกตอแหล ห้ามเสพเครื่องดองของเมาสุราเมรัยยาเสพติดต่าง ๆ นี้ อย่าไปยุ่ง
ถ้าเรารักษาศีล ๕ ข้อนี้ได้ ก็เป็นเครื่องการันตีอย่างหนึ่งว่า เราจะไม่เสียทรัพย์สินไปกับเรื่องไร้สาระ เรื่องไร้ประโยชน์ อย่างแน่นอน เพราะว่าเราใช้ชีวิต ใช้จ่ายทรัพย์สิน บนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม มีศีลธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อันนี้ข้อหนึ่ง
อีกอย่างคือ สมชีวิตา ก็แปลว่า ใช้ชีวิตให้สมฐานะ ก็คือ อย่าใช้จ่ายเกินตัวนั่นเอง ฐานะเราดีหรือไม่ดี จนหรือรวย หรือว่าปานกลาง เรารู้อยู่แล้ว เราต้องรู้สถานะของตัวเองอยู่แล้ว ว่าเรามีเงินทองแค่ไหน เราสามารถใช้จ่ายได้แค่ไหน ก็แค่อย่าใช้จ่ายให้มันเกินตัว ไม่ใช่ว่า หาร้อยใช้ร้อย อย่างนี้ก็ไม่เหลือ หาได้ ๑๐๐ ใช้ ๒๐๐ อย่างนี้ก็เป็นหนี้เป็นสินอีก ลำบากอีก หาได้ ๑๐๐ ใช้สัก ๕๐ น่าจะพอดี

จะใช้มากใช้น้อยก็อย่าให้มันเกินตัว แล้วก็แบ่งเก็บบ้างอะไรบ้าง สรุปว่า ก็อย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายนั่นเอง พอเราไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย จะใช้จ่ายทรัพย์สินทีคิดให้ดีว่า มันสำคัญหรือเปล่า มันจำเป็นหรือเปล่า สิ่งที่เราจะซื้อ สิ่งที่เราจะแลกมาด้วยเงินทองเนี่ย มันสำคัญแค่ไหน แล้วมันคู่ควรกับเงินทองที่เราจะต้องเสียไปแค่ไหน มันคุ้มค่ากับเงินทองที่เราจะต้องเสียไปจ่ายไปแค่ไหน อันนี้ต้องพยายามคิด
สรุปคาถาหัวใจเศรษฐี
นี่คือหัวใจเศรษฐี ๔ ข้อ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสสอนพวกเราไว้
อุ = อุฏฐานสัมปทา ขยันทำมาหากิน
อา = อารักขสัมปทา หาได้แล้วต้องรู้จักเก็บรักษา
กะ = กัลยาณมิตตตา ให้คบคนดีเป็นมิตร อย่าไปคบคนชั่ว อย่าไปคบคนพาล
สะ = สมชีวิตา ใช้ชีวิตให้ดี ใช้ชีวิตให้มันสมฐานะ อย่าไปใช้จ่ายเกินตัว อย่าสุรุ่ยสุร่าย
ถ้าทำได้ ๔ อย่างนี้ รับรองว่า ชีวิตเราไม่ตกต่ำ ก็คือเราไม่เดือดร้อนน่ะ ถึงแม้ว่าวันนี้เราอาจจะยังไม่มี แต่ถ้าเราทำได้ ๔ อย่างนี้นะ เราก็สามารถหาเงินหาทองได้ วันละนิดละหน่อย เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ รู้จักแบ่งเก็บแบ่งใช้ไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีเงินใช้ส่วนหนึ่ง แล้วก็มีเงินเก็บส่วนหนึ่ง เงินเก็บที่เราสะสมไว้นี้ก็เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันก็มากขึ้นมากขึ้นได้ ถึงคราวจำเป็นค่อยเอามาใช้ อย่างนี้เป็นต้น ชีวิตมันก็มีความสุขแล้ว
เพราะฉะนั้น คาถาหัวใจเศรษฐีที่พูดถึงเนี่ย ไม่ต้องไปท่องไม่ต้องไปอะไรให้มันเสียเวลาหรอก มัวแต่ไปหวังให้คาถาดลบันดาลโชคลาภร่ำรวยให้เนี่ย มันไม่มีทางหรอกครับ ต้องทำ ทำให้ได้ คาถาหัวใจเศรษฐีเนี่ย ทำให้ได้ ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องสวด ไม่ต้องสาธยาย นั่นคือแนวทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ท่านไม่สอนให้คนไปขอ ไม่สอนให้คนอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลให้ แต่ท่านสอนให้คนรู้จักดิ้นรน รู้จักพึ่งตนเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ สุภาษิตนี้ใช้ได้ตลอดชีวิต ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่ามัวแต่หวังลาภสรรเสริญที่มันลอยมาจากอากาศจากไหนก็ไม่รู้ แล้วจะตกลงมาใส่เราเนี่ย เป็นไปไม่ได้ เราต้องพึ่งตนเอง ตั้งตนอยู่ในหลักธรรมของคาถาหัวใจเศรษฐี ๔ อย่าง ขยันหา รักษาให้ดี มีกัลยาณมิตร ใช้ชีวิตสมฐานะ ใช้ชีวิตอย่างพอดิบพอดี ฝากไว้แค่นี้ครับ คาถาหัวใจเศรษฐี ทำให้ได้ ไม่ต้องท่อง.