มลทินของชีวิต 4 อย่าง

มลทินของชีวิต 4 อย่าง
ขึ้นชื่อว่ามลทินนั้น ไม่มีใครอยากมี ไม่ว่าจะเป็นมลทินในทางโลก เช่น คำติฉินนินทา การถูกปรับไหมใส่โทษ การได้รับโทษทัณฑ์ทางอาญาหรือทางแพ่ง เป็นต้น หรือจะเป็นมลทินในทางธรรม อันได้แก่บาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งถือว่าเป็นมลทินตัวฉกาจของชีวิต
มีพระคาถาบทหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ใจความว่า
อสชฺฌายมลา มนฺตา………อนุฏฺฐานมลา ฆรา
มลํ วณฺณสฺส โกสชฺชํ…….ปมาโท รกฺขโต มลํ.
“มนต์ทั้งหลาย มีอันไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน, เรือน มีความไม่หมั่นเป็นมลทิน, ความเกียจคร้าน เป็นมลทินของผิวพรรณ, ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา.”
ในพระคาถาข้างต้นนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงมลทิน 4 ประการด้วยกัน
ประการที่ 1 “อสชฺฌายมลา มนฺตา มนต์ทั้งหลาย มีอันไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน” ข้อนี้พระพุทธองค์ทรงหมายเอามลทินของปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน และศิลปะคือความรู้ความสามารถในด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นก็เหมือนเป็นอันเดียวกันนั่นเอง เพราะเราเรียนหนังสือก็เพื่อให้มีความรู้ความสามารถเพื่อนำไปประกอบสัมมาชีพ และศิลปะในที่นี้ก็หมายถึงความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพซึ่งก็ได้มาจากการศึกษาเล่าเรียนนั่นเอง (ถ้าพูดถึงศิลปะสมัยนี้ท่านทั้งหลายจะนึกไปถึงการวาดรูป จิตรกรรม ประติมากรรม เป็นต้น แต่ในที่นี้หมายเอาการงานทุกอย่างทุกแขนง)

เราท่านทั้งหลายทุกรูปทุกนาม หลังจากเกิดมาได้ใหญ่โตมา ย่อมต้องเคยผ่านการศึกษาเล่าเรียนมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม จนกระทั่งระดับอุดมศึกษา หรือการศึกษาของพระภิกษุสามเณรที่เรียกว่าพระปริยัติธรรม หรือแม้กระทั่งการศึกษาอย่างอื่นที่ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงเรียนในสถานศึกษา ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียน
แต่หากมีการกระทำบางอย่างที่บ่งบอกว่าเป็นการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือเรียนรู้จากคนอื่น ที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นปริยัติทั้งสิ้น ซึ่งปริยัตินี้ นอกจากจะเรียนรู้และทำความเข้าใจแล้ว ยังมีบางส่วนที่จำเป็นจะต้องท่องจำด้วย ยกตัวอย่างเช่นสมัยเรียนชั้นประถมศึกษา (พูดกันเป็นสมัยเลยทีเดียว แสดงว่าผ่านมานานมากแล้วนะเนี่ย) เราเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ครูก็จะให้ท่องสูตรคูณ ก่อนเลิกเรียนนี่ท่องทุกวัน เพื่อให้จำได้ขึ้นใจ จำเป็นจะต้องใช้เมื่อไหร่ เพียงแค่นึกก็จำได้ทันทีนึกได้นำมาใช้ได้ทันที
หรือเราเรียนกฎหมาย ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องท่องประมวลกฎหมาย ท่องพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด เพื่ออะไรล่ะ? เบื้องต้นก็เพื่อให้สอบผ่าน ได้คะแนนดี ๆ มีคะแนนสูง ๆ ถ้าไม่ท่องซะเลยเวลาไปสอบก็คิดอะไรไม่ออก สุดท้ายก็เดินออกจากห้องสอบแบบเซ็ง ๆ (แต่จะเซ็งข้อสอบหรือจะเซ็งตัวเองก็อีกเรื่อง)
สรุปว่า คำว่า “มนต์” ในที่นี้ หมายถึงปริยัติและศิลปะ ถ้าอยากจะให้ปริยัติและศิลปะบริสุทธิ์หมดจดคือคล่องแคล่วชำนาญดี ต้องกำจัดมลทินให้หมดไป กำจัดอย่างไร กลับไปอ่านข้างบน
ประการที่ 2 “อนุฏฺฐานมลา ฆรา เรือน มีความไม่หมั่นเป็นมลทิน” อันนี้ยกตัวอย่างง่าย ๆ เราท่านทั้งหลายต่างก็มีเรือน (เดี๋ยวนี้เราเรียกกันว่าบ้าน) กิจที่ต้องทำเป็นประจำก็คือการปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดเรือนของเราให้เป็นระเบียบเรียบร้อยให้น่าอยู่ น่าดู น่าชม ถ้าไม่ขยันทำกิจข้างต้นนั้น ก็จะทำให้เกิดมลทินขึ้นมา คือทำให้เรือนเศร้าหมอง ไม่สะอาด บ่งบอกถึงความซกมกของเจ้าของเรือน
ถ้าจะพูดให้ลึกลงไปอีกซักหน่อย ทุกวันนี้ค่าครองชีพมันสูงจังนะ แต่ละวันแต่ละเดือนต้องมีค่าใช้จ่ายโน่นนี่นั่นเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอะไรจิปาถะ บางคนดาวน์รถก็ต้องผ่อนรถ บางคนดาวน์บ้านก็ต้องผ่อนบ้าน เป็นต้น ก็ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรหาเงินมาจุนเจือครอบครัว หาเงินมาผ่อนบ้าน อะไรทำนองนี้
ถ้าไม่ขยันทำงานหาเงิน ก็ไม่มีเงินมาผ่อนบ้าน สุดท้ายก็โดนยึด หรือแม้แต่มีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว ไม่ได้ดาวน์ไม่ได้ผ่อน แต่หากไม่หมั่นหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ใช้เงินทุกวัน ๆ แต่ไม่หาเงินใหม่มาสำรองไว้ สุดท้ายเงินหมด ต้องขายบ้านขายเรือน อะไรทำนองนี้ อันนี้พูดคร่าว ๆ นี่แหละท่านทั้งหลาย ที่ว่า “เรือน มีความไม่หมั่นเป็นมลทิน” มันก็เป็นอย่างนี้
ประการที่ 3 “มลํ วณฺณสฺส โกสชฺชํ ความเกียจคร้าน เป็นมลทินของผิวพรรณ” อันนี้สำหรับคนรักสวยรักงาม โดยเฉพาะสาว ๆ ต้องหมั่นคอยดูแลรักษาผิวพรรณ หาโน่นหานี่มาทาหน้าทาปาก มาบำรุงผิวพรรณ ให้สวยสุดผุดผ่องเป็นยองใยอยู่เสมอ วันไหนรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยนี่แทบจะไม่กล้าไปไหน อันนี้ยกตัวอย่าง
แต่ความจริงแล้วแค่การหมั่นทำความสะอาดร่างกาย คือกำจัดมลทินของร่างกาย ไม่ให้ร่างกายเศร้าหมอง ให้เป็นที่น่าดูน่าชมน่าทัศนาก็พอ ไม่ต้องถึงขั้นที่แบบว่า บนหน้ามีแต่แป้งมีแต่เครื่องสำอางค์ พอล้างเครื่องสำอางค์ออกหมดแล้วต้องอุทาน “อุ๊ยตายว้ายกรี้ด” อันนี้ก็ไม่ไหว
ประการที่ 4 “ปมาโท รกฺขโต มลํ ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา” อันนี้สำคัญมากนะท่านทั้งหลาย คนเราทุกคนย่อมมีสิ่งที่ต้องรักษาด้วยกันทั้งนั้น เช่น มีทรัพย์สินเงินทองเราก็ต้องรักษา มีบุตรธิดาเราก็ต้องรักษา มีบิดามารดาเราก็ต้องรักษา มีบริษัทบริวารเราก็ต้องรักษา พ่อค้าแม่ขายก็ต้องรักษาสินค้าของตัวเองไม่ให้ถูกพวกมือไวจิ๊กไป หรือเป็นยาม มีหน้าที่ต้องคอยรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ประมาทขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จบกัน

คือเมื่อเกิดความประมาทก็เกิดมลทินขึ้นมาทันที เช่น ผู้ที่เป็นพ่อค้าแม่ขาย ประมาทเมื่อไหร่เผลอเมื่อไหร่ มือดี (ที่จริงแล้วต้องบอกว่ามือไม่ดีมากกว่า) ก็ฉกของไปทันที อาจจะขาดทุนได้เนาะ เฉกเช่นเดียวกันท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นสาธุชนคนดี นอกจากสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องรักษาดังกล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรักษาด้วยชีวิต นั่นก็คือ “ศีล” อย่างน้อยก็ศีล 5 ข้อ อันนี้เบสิคมาก ๆ การรักษาศีล 5 นี่ประมาทไม่ได้นะท่านทั้งหลาย
สมมตินะครับสมมติ (ไม่ใช่น้องพลับนะ) สมมติว่าท่านเป็นพ่อค้าหรือแม่ค้า สมมติว่าท่านประมาทมัวแต่มองลูกค้าสาว ๆ หรือลูกค้าหนุ่ม ๆ หน้าตาดี ๆ บางคนเพลิน ๆ อยู่ ลืมสังเกตลูกค้าคนอื่น ๆ แล้วมีลูกค้าบางคนฉกสินค้าของท่านไปไม่จ่ายเงิน หายเข้ากลีบเมฆไปเลย อันนี้เรียกว่าท่านประมาททำให้เสียของคือสินค้า แต่ท่านไม่บาป แต่ตรงกันข้าม ถ้าท่านประมาทในศีล เกิดทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมา เป็นบาปทันที นี่ มันต่างกันตรงนี้ ประมาทเหมือนกันแต่ผลเสียต่างกัน
เพราะฉะนั้นแล้วท่านทั้งหลาย ก่อนจะทำอะไรลงไปพิจารณาดูก่อนให้ถี่ถ้วน สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี่มันถูกหรือมันผิด ทำแล้วตัวเองเดือดร้อนหรือเปล่า คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า ผิดศีลผิดธรรมหรือเปล่า ผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือเปล่า เมื่อเราใช้สติปัญญาพิจารณาดีถี่ถ้วนแล้วเห็นว่าไม่ผิดศีลไม่ผิดธรรม ตัวเองไม่เดือดร้อน คนอื่นไม่เดือดร้อน ก็ค่อยลงมือทำ การที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ได้นั้น ศีล 5 อย่าให้ขาด หาไม่แล้วความเป็นพุทธศาสนิกชนก็มีมลทิน เหมือนเหล็กที่มีสนิมย่อมไม่ใช่เหล็กที่บริสุทธิ์ ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านทั้งหลาย
วันนี้เรายังมีมลทินอยู่หรือเปล่า หากยังมีอยู่ ก็จงรีบกำจัดมันเสีย.