หากรักตัวเอง พึงรักษาตัวเองให้ดี

หากรักตัวเอง พึงรักษาตัวเองให้ดี

หากรักตัวเอง พึงรักษาตัวเองให้ดี

บนโลกกลม ๆ ที่บิดเบี้ยวบ้างเล็กน้อยถึงปานกลางใบนี้ มีใครหน้าไหนบ้างที่ไม่รักตัวเอง เป็นที่น่าเชื่อเหลือเกินว่าเราท่านทั้งหลายต่างก็รักตัวเองกันทั้งนั้น หากแต่ว่า เมื่อรักตัวเองแล้ว ท่านได้รักษาตัวเองให้สมกับที่รักตัวเองนักหนาหรือเปล่า และหากท่านรักษาตัวเองอยู่แล้ว ท่านรักษาถูกวิธีแล้วหรือยัง เกี่ยวกับเรื่องนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาไว้บทหนึ่ง ความว่า

อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา…….รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ
ติณฺณมญฺญตรํ ยามํ………ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต.

“ถ้าบุคคลทราบว่าตนเป็นที่รัก พึงรักษาตนนั้นให้เป็นอันรักษาด้วยดี, บัณฑิตพึงประคับประคองตน ตลอดยามทั้ง 3 ยามใดยามหนึ่ง.”

ความหมายของพระคาถาบทนี้ก็คือ “ถ้ารักตัวเอง ก็ต้องรู้จักรักษาตัวเอง” ส่วนจะรักษาอย่างไรจึงจะถูกวิธีนั้น เรื่องนี้ย่อมต้องมีคำอธิบาย

ก่อนอื่น ขอพูดถึงคำว่า “ยาม” ก่อนก็แล้วกัน คำว่า “ยาม” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงยามที่เป็นคำบ่งบอกเวลาในแต่ละวันอย่างที่เราใช้กัน เช่น ยามหนึ่ง ยามสอง หรือยามสาม หรือแม้กระทั่ง “ยามเหงา” ก็ไม่เข้าประเด็น หากแต่ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงตรัสคำว่า “ยาม” หมายเอาคำว่า “วัย” ความหมายก็คือ ทรงใช้คำว่ายามแทนคำว่าวัย นั่นเองแล เพราะเหตุฉะนี้นั้น คำว่า “3 ยาม” จึงหมายถึง วัยทั้ง 3 อันได้แก่ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย

แล้วเราจะรักษาตัวเองอย่างไรเล่าจึงจะได้ชื่อว่ารักษาด้วยดี จะขุดหลุมนิรภัยอยู่กระนั้นหรือ จะจ้างบอดี้การ์ดมาตามคุ้มครองกระนั้นหรือ จะไปอยู่บนตึกสูงๆ ที่มีระบบความปลอดภัยชั้นเยี่ยมกระนั้นหรือ ยัง..มันยังไม่ใช่ในความหมายของเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่นี้

พร่ามเยอะไป เดี๋ยวจะขี้เกียจอ่านกัน เข้าประเด็นเลยดีกว่าเนาะ คนเราทุกคนเกิดมาได้ก็ด้วยบุญ (ถ้าไม่มีบุญไม่ได้เกิดมาเป็นคนหรอก..เชื่อสิ) และอยู่ได้ก็ด้วยบุญ และเกิดมาแล้วมีรูปร่าง หน้าตา ฐานะความเป็นอยู่ แตกต่างกัน ก็เพราะบำเพ็ญบุญมาแตกต่างกัน เช่น บางคนเกิดมาหน้าตาดี บางคนหน้าตาดีมาก (ไม่พูดถึงคนขี้เหร่นะ เพราะคนที่อ่านบทความนี้ หน้าตาดีกันทุกคน)

พอพูดมาถึงตรงนี้ ก็คงจะพอรู้กันแล้วใช่หรือไม่ว่า เราจะรักษาตัวเองให้ดีได้ ก็ด้วยการบำเพ็ญบุญ และท่านทั้งหลายก็คงจะรู้อยู่แล้วว่าจะบำเพ็ญบุญได้ด้วยวิธีใด ถ้านึกยังไม่ออกก็จะบอกให้รู้ว่า เราท่านทั้งหลายสามารถบำเพ็ญบุญได้ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา (บุญกิริยาวัตถุ ๓ นั่นเอง)

การให้ทาน (ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ) อันนี้เป็นบุญเบื้องต้น ซึ่งไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ นะท่านทั้งหลาย คนจะให้ทานได้นี่ไม่ใช่ธรรมดา ต้องฆ่ามัจฉริยะ คือความตระหนี่ถี่เหนียวให้ได้ หาไม่แล้วไซร้ ไหนเลยจะมีกะใจให้ทาน ฝันไปซะเถอะ

การรักษาศีล (สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ) สูงกว่าทานขึ้นมาหนึ่งระดับ อันนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ นั่นก็หมายความว่าท่านนับถือศาสนาพุทธ และชาวพุทธหรือพุทธศาสนิกชนจะเป็นชาวพุทธที่บริบูรณ์ได้นั้นก็ต้องรักษาศีลอย่างน้อย 5 ข้อ คือ

  1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
  2. เว้นจากการ (ถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้) ลักทรัพย์
  3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  4. เว้นจากการกล่าวมุสา
  5. เว้นจากการดื่มของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือสุราและเมรัย

การเจริญภาวนา (ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ) บุญขั้นสูงสุด อันนี้จะเรียกว่าบุญขั้นเทพก็ยังต่ำเกินไปนัก เพราะการเจริญภาวนา ให้ได้มากกว่าขั้นเทพ ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูซิว่า ตั้งแต่อดีต (เอาเฉพาะตั้งแต่จำความได้ก็พอนะ ไม่ต้องถึงขั้นอดีตชาติ) จนถึงปัจจุบัน ท่านได้เคยเดินจงกรมหรือยัง ได้เคยนั่งสมาธิภาวนาบ้างหรือยัง ถ้าหากคิดทบทวนดีแล้วพบว่ายัง ก็จงรีบทำเสียเถิด ก่อนที่ลมหายใจจะหมดลง

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการกล่าวถึงวิธีรักษาตัวเองให้ดีด้วยการบำเพ็ญบุญแต่เพียงคร่าว ๆ ซึ่งหากจะกล่าวให้ละเอียดนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะมากมายเลยทีเดียว หากจะนำมากล่าวก็จะยาวเกินไป เอาเป็นว่า กล่าวไว้พอให้เห็นทางก็แล้วกัน

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงประคับประคองตน ตลอดยามทั้ง 3 ยามใดยามหนึ่ง” ความหมายก็คือ ผู้มีปัญญาพึงรักษาตัวเองด้วยการบำเพ็ญบุญดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ตลอดทั้ง 3 วัย วัยใดวัยหนึ่ง คือปฐมวัย ตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว ท่านได้รักษาตัวเองด้วยการบำเพ็ญบุญดังว่ามานั้นบ้างหรือยัง หากว่าสมัยนั้นยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ก็เลยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็ยังเหลือมัชฉิมวัย คือวัยกลางคน มาถึงวัยนี้แล้วก็ให้รีบบำเพ็ญบุญซะให้มาก ๆ แต่หากว่าในมัชฌิมวัยนี้มัวแต่ทำงานหาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ก็เลยไม่มีเวลาได้บำเพ็ญบุญเท่าที่ควร ก็ยังเหลือปัจฉิมวัย

วัยสุดท้ายหรือวัยไม้ใกล้ฝั่ง มาถึงวัยนี้ต้องรีบแล้วนะท่านทั้งหลาย โอกาสสุดท้ายแล้วที่ท่านจะได้บำเพ็ญบุญอันเป็นเครื่องรักษาตัวเอง ถ้าหากเป็นนักกรีฑาที่กำลังวิ่งแข่งกับคนอื่นก็คงถึงเวลาต้องสปีดให้สุดแรงเกิดแล้วหล่ะ แต่ถ้าหากถึงปัจฉิมวัยแล้วยังไม่ได้บำเพ็ญบุญกระไรเลย อันนี้ก็ตัวใครตัวมันนะท่านนะ

แต่จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่า ณ ตอนนี้ท่านจะอยู่ในวัยใด ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กหนุ่มสาว วัยกลางคน หรือวัยทอง ก็ขออย่าได้ประมาท รีบหาโอกาสบำเพ็ญบุญไว้เยอะ ๆ เป็นการดีที่สุด เพราะลมหายใจจะหายไปจากปลายจมูกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ตายเมื่อไหร่ก็หมดโอกาสบำเพ็ญบุญเมื่อนั้น หรือแม้แต่ยังไม่ตาย แต่หากแก่หง่อมจนหมดแรงเดินเหินแล้วไซร้ ไฉนเลยจะมีแรงบำเพ็ญบุญ ฉะนั้นแล้ว รีบรักษาตัวเองให้ดีเถิด ท่านทั้งหลาย (หวังดีนะเนี่ย)

You may also like...