ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายถึงอะไร?

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายถึงอะไร?

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายถึงอะไร?

คำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เป็นคำที่เราได้ยินกันมานาน เป็นคำฮิตติดหูที่ได้ยินบ่อยมาก อีกทั้งเป็นคำฮิตติดปาก ที่หลาย ๆ คนพูดบ่อย ๆ หรือนำไปใช้บ่อย ๆ ซึ่งคำ ๆ นี้ เป็นพุทธภาษิต มาจากคำบาลีว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ”

บทเต็มของพุทธภาษิตบทนี้ก็คือ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน “โก หิ นาโถ ปโร สิยา” คนอื่น ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ “อตฺตนา หิ สุทนฺเตน” ก็บุคคล มีตนอันฝึกฝนดีแล้ว “นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ” ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้ยาก

ความหมายของพุทธภาษิตบทนี้ ท่านมุ่งถึง การบำเพ็ญบารมี การบำเพ็ญบารมีนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครสามารถทำแทนเราได้ ไม่มีใครเป็นที่พึ่งของเราได้ ในเรื่องของการบำเพ็ญบารมี

การบำเพ็ญบารมีระดับต้น คือการบำเพ็ญทาน เช่น การถวายทานแด่พระสงฆ์ผู้ทรงศีล การบริจาคทรัพย์บำรุงพระพุทธศาสนา การแบ่งปันสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ การสละทรัพย์เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เราต้องกำจัดมัจฉริยะคือความตระหนี่ภายในจิตใจของเราให้ได้เสียก่อน

เพราะคนที่มีมัจฉริยะคือความตระหนี่ถี่เหนียว จะไม่ยอมสละทรัพย์สินใด ๆ ของตนให้คนอื่นเด็ดขาด ดังนั้น คนที่จะบำเพ็ญทานได้ ต้องกำจัดความตระหนี่ และความตระหนี่นี้ไม่มีใครกำจัดให้กันได้ เราต้องกำจัดด้วยตัวของเราเอง ดังนั้น คนอื่นเป็นที่พึ่งของเราในเรื่องนี้ไม่ได้ เราต้องพึ่งตัวเอง

การบำเพ็ญบารมีระดับสูงขึ้นมาอีก คือการบำเพ็ญศีล ได้แก่ การรักษาศีลนั่นแหละ ฆราวาสอย่างเราก็รักษาศีล 5 บ้าง ศีล 8 บ้าง สามเณรก็รักษาศีล 10 พระสงฆ์ก็รักษาศีล 227 การรักษาศีลนี้ก็ไม่มีใครรักษาแทนกันได้อีก เรารักษาศีลแทนคนอื่นก็ไม่ได้ คนอื่นรักษาศีลแทนเราก็ไม่ได้ ต่างคนก็ต่างต้องรักษาศีลด้วยตัวเอง ดังนั้น ต่างคนต่างก็ต้องเป็นที่พึ่งของตัวเองในการรักษาศีล

การบำเพ็ญบารมีในระดับสูงสุด คือ การบำเพ็ญภาวนา ได้แก่ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ มีเป้าหมายคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นเป้าหมายเพื่อความพ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “ที่พึ่งที่ได้ยาก” ก็คือพระนิพพานนี่แหละ

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็คือความหมายของคำว่า “ฝึกตน” หรือ “มีตนอันฝึกดีแล้ว” ซึ่งการฝึกตนด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ เราก็ต้องทำด้วยตัวเอง คนอื่นทำแทนเราไม่ได้ แม้แต่ตัวเราเองก็ทำแทนคนอื่นไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องเป็นที่พึ่งของตัวเอง ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อเป้าหมายคือที่พึ่งที่ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือพระนิพพาน

จะเห็นได้ว่า การบำเพ็ญบารมีทุก ๆ ระดับ เราต้องทำด้วยตัวเอง ต้องบำเพ็ญด้วยตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีใครทำแทนกันได้ แม้แต่แฟนก็ทำแทนไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”.

You may also like...