ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
คนเราทุกคนเกิดมาย่อมปรารถนาที่พึ่งพาอาศัย ตั้งแต่แรกเริ่มปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา ทานอาหารเองไม่ได้ก็ต้องอาศัยอาหารที่มารดาทานเข้าไปไปหล่อเลี้ยง พอถือกำเนิดเกิดมาคือคลอดออกจากครรภ์มารดาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยมารดาทุกสิ่งทุกอย่างอยู่อีก ก่อนจะคลานเป็นก็ต้องพึ่งมารดาบิดาสอนให้คลาน
ก่อนจะเดินเป็นก็ต้องพึ่งมารดาบิดาสอนให้เดิน ก่อนจะพูดเป็นก็ต้องพึ่งมารดาบิดาสอนให้พูด ไปโรงเรียนก็ต้องพึ่งครูอาจารย์สอนวิชาความรู้แขนงต่าง ๆ พอแก่ตัวมาก็ต้องพึ่งลูกพึ่งหลานช่วยกิจการงานต่าง ๆ เป็นต้น เรียกได้ว่า ชีวิตคนเราทุกคนล้วนแล้วก็ต้องมีที่พึ่งพาอาศัยด้วยกันทั้งนั้น พึ่งคนอื่นบ้าง เป็นที่พึ่งให้คนอื่นบ้าง ตามเหตุตามปัจจัยที่เป็นไป
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นแต่เพียงที่พึ่งธรรมดา ๆ ที่เป็นไปอยู่เองโดยธรรมชาติ ซึ่งแต่ละคนสามารถเป็นที่พึ่งให้กันได้ เช่น พ่อแม่เป็นที่พึ่งให้ลูกในยามที่ลูกเป็นเด็ก ลูกเป็นที่พึ่งให้พ่อแม่ยามแก่เฒ่า เป็นต้น ซึ่งพึ่งได้เฉพาะในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น
ยังมีที่พึ่งอีกอย่างซึ่งเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ ได้แก่ ที่พึ่งคือบุญกุศลมรรคผลนิพพาน ที่พึ่งอันประเสริฐนี้เป็นที่พึ่งให้เราได้ทั้งในปัจจุบันชาติและสัมปรายภพ แต่ทว่า ที่พึ่งที่ว่านี้ ไม่มีใครให้ใครได้ เราท่านทั้งหลายต้องขวนขวายด้วยตัวเอง คือต้องพึ่งตัวเองถ่ายเดียวเท่านั้นจึงจะได้มา ที่บอกว่าต้องพึ่งตัวเองถ่ายเดียวก็เพราะเหตุว่า ที่พึ่งดังกล่าวนั้นจะได้มาก็ด้วยทาน ศีล ภาวนา ซึ่งต้องบำเพ็ญด้วยตนเอง
จริงอยู่ที่ว่า ธรรมดาการให้ทานนั้นเราสามารถมอบหมายให้คนอื่นทำแทนก็พอได้อยู่ หากแต่ว่าก่อนหน้านั้นท่านต้องตัดมัจฉริยะคือความตระหนี่ให้ได้เสียก่อน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าคนอื่นไม่สามารถตัดความตระหนี่แทนท่านได้ และท่านเองก็ไม่สามารถตัดความตระหนี่แทนคนอื่นได้ดุจกัน

ทีนี้มาพูดถึงการรักษาศีลซักหน่อย ศีลสำหรับฆราวาสญาติโยมที่เป็นพุทธศาสนิกชนทั่วไป ๕ ข้อ มีเจตนาเครื่องงดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไปเป็นต้นนั้น ไม่มีใครรักษาแทนใครได้อย่างแน่นอน เราต้องพึ่งตัวเองคือบำเพ็ญเองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ทำจิตให้เลื่อมใสใคร่ในศีล ต่อจากนั้นก็สมาทานศีล ต่อจากสมาทานก็คือการรักษาศีลที่สมาทานนั้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เรียกว่าต้องพึ่งตนเองทุกประการเลยทีเดียว
การเจริญภาวนาก็เช่นกัน ไม่มีใครทำแทนใครได้ คนหนึ่งเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายอย่างหนอ อีกคนจะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่ใช่ คนหนึ่งนั่งสมาธิภาวนากำหนดหยุบหนอ พองหนอ หรือ พุทโธ ๆ อีกคนจะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่ใช่ ใครทำคนนั้นก็ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาไว้ว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ……โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน……………..นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ.
“ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก.”
(พุทฺธ) ขุ.ธ. ๒๕/๒๖.
เนื้อความแห่งพระคาถานี้ ความว่า บุคคลมีความเพียรบำเพ็ญบุญกุศลตั้งแต่ขั้นกามาวจรจนถึงขั้นโลกุตตระด้วยตนเอง ย่อมจะถึงสุคติโลกสวรรค์จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยตนเอง จะบำเพ็ญแทนใครก็ไม่ได้ จะให้ใครบำเพ็ญแทนก็ไม่ได้ดุจกัน ซึ่งเป็นนัยของคำว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะพึงเป็นที่พึ่งได้”
และคำว่า “ที่พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก” นั้น พระองค์ตรัสหมายถึงพระอรหัตตผลโดยแท้ และคำว่า “มีตนฝึกฝนดีแล้ว” นั้น ก็คือ ฝึกตนให้เป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นเบื้องต้น อันจะเป็นทางไปสู่มรรคผลนิพพาน.