กรรมกิเลส สาเหตุแห่งความมัวหมอง

กรรมกิเลส สาเหตุแห่งความมัวหมอง
“กรรมกิเลส” เป็นชื่อเรียกกรรมหรือการกระทำที่ทำแล้วทำให้จิตใจเศร้าหมอง มีอยู่ 4 ประการ คือ
1. ปาณาติบาต
ปาณาติบาต ได้แก่ การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ก็คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั่นเอง สัตว์มีชีวิตนี้หมายเอาทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน บรรดาที่ยังมีลมหายใจเข้าออก สันตติคือความสืบต่อแห่งชีวิตยังไม่ขาด ผู้ใดไปทำให้สัตว์มีชีวิตหรือสัตว์มีปราณดังว่านั้นให้มีอันต้องหยุดหายใจ สันตติขาดตายไป ผู้นั้นได้ชื่อว่ากระทำปาณาติบาต คือการละเมิดศีลข้อที่ 1 นั่นเอง
2. อทินนาทาน
อทินนาทาน ได้แก่ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ว่าด้วยอาการใด ๆ ก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย การจี้เอาซึ่งหน้า การปล้น การฉกชิง การวิ่งราว การยื้อแย่ง หรือการฉ้อฉล ไม่ว่าด้วยการกระทำใด ๆ ก็ตาม อันมีผลทำให้ได้สิ่งของของบุคคลอื่นมาโดยไม่ชอบธรรม โดยเจ้าของเขามิได้ยินดีจะมอบให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ล้วนแล้วแต่เป็นอทินนาทานทั้งนั้น คือการละเมิดศีลข้อที่ 2 นั่นเอง

3. กาเมสุมิจฉาจาร
กาเมสุมิจฉาจาร แปลตามตัวคือการประพฤติผิดในกาม โดยความหมายได้แก่ การเสพกามกับบุคคลที่มิใช่ภรรยาสามีของตนเอง การลักลอบเป็นชู้สู่สมกับภรรยาสามีของผู้อื่น การข่มขืนกระทำชำเรา หรือการเสพกามกับธิดาของผู้อื่น โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเขามิได้ยินยอม พ่อแม่ผู้ปกครองของเขาหวงห้าม เป็นต้น (อาการที่ยินยอมก็เช่น การยกลูกสาวให้แต่งงานด้วยแล้ว เป็นต้น) เหล่านี้จัดเป็น กาเมสุมิจฉาจาร คือการละเมิดศีลข้อที่ 3 นั่นเอง
4. มุสาวาท
มุสาวาท แปลตามตัวคือ การกล่าวเท็จ หากแต่โดยความหมายแล้ว ท่านหมายเอาวจีทุจริต 4 ประการ คือ
1) มุสาวาท คือ การกล่าวคำเท็จ (พูดโป้ปดมดเท็จ หลอกลวง)
2) ปิสุณวาจา คือ การพูดส่อเสียด (พูดยุยงส่งเสริมให้คนอื่นแตกคอกัน)
3) ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ (พูดวาจาที่หยาบคายด้วยจิตใจที่หยาบโลน ด้วยประสงค์จะให้ผู้ฟังเจ็บช้ำน้ำใจ)
4) สัมผัปปลาป คือ การพูดเพ้อเจ้อ (เหลวไหลไร้ประโยชน์ ไม่ประกอบด้วยศีลธรรม)
กรรมกิเลสทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ท่านว่าทำให้ผู้กระทำนั้นเศร้าหมองทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า
เศร้าหมองในโลกนี้ คือ เมื่อกระทำแล้วย่อมถูกติฉินนินทาก่นด่าสารพัดบ้าง ได้รับโทษทัณฑ์อาญาแผ่นดินบ้าง ถูกสังคมรังเกียจบ้าง บัณฑิตติเตียนบ้าง ถึงแม้ตนเองก็ยังติเตียนตนเพราะการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรนั้นบ้าง เป็นต้น
เศร้าหมองในโลกหน้า คือ เบื้องหน้าแต่ชีพวางวายตายไป กรรมนั้นย่อมนำผู้กระทำไปสู่ทุคคติ อบายภูมิ พาให้ไปตกนรกหมกไหม้บ้าง พาไปเกิดเป็นเปรตบ้าง อสุรกายบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
เพราะเหตุดังนั้น กรรมกิเลสทั้ง ๔ ประการดังว่ามาข้างต้นนั้น จึงเป็นสิ่งที่บัณฑิตชนทั้งหลายพึงละ พึงเว้นเสียให้ห่าง ประดุจเห็นงูพิษแล้วไม่อยากเข้าใกล้เพราะกลัวภัยฉะนั้น